การขาดไบโอตินกับภาวะผมร่วง
ประโยชน์ของไบโอติน
ไบโอติน (Biotin) รู้จักกันในชื่อวิตามินเอชหรือ วิตามินบี 7 เป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ไบโอตินเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผม เล็บ และผิวหนังมีสุขภาพดีและยังทำให้การเผาผลาญอาหารพวกแป้ง (carbohydrate) และไขมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภาวะผมร่วงมากผิดปกติ หนังศีรษะอักเสบ ผมขาวก่อนวัย ผมขึ้นใหม่ผิดปกติ ผมเปราะ ผมแตกปลาย รังแคและความผิดปกติอื่นๆ ของผมและหนังศีรษะอาจเกิดขึ้นได้จากการขาดไบโอติน ไบโอตินช่วยในการเจริญของเซลล์เยื่อบุผิว เป็นส่วนประกอบของการสร้างน้ำตาล กรดอะมิโนและกรดไขมัน และช่วยให้ร่างกายสร้างพลังงานระหว่างการออกกำลังกายหรือการทำกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ความแข็งแรงของเส้นผมและเล็บ ความเรียบของผิวหนังขึ้นกับปริมาณของไบโอตินที่มีอยู่ที่ผิวหนัง หนังศีรษะและรากผม
แม้ว่าการขาดไบโอตินจะพบได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากวิตามินชนิดนี้ผลิตขึ้นได้จากแบคทีเรียปกติในลำไส้ แต่ในปัจจุบันพบว่าการขาดวิตามินชนิดนี้พบได้บ่อยขึ้นมากกว่าแต่ก่อน คนที่มักจะรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีมากหรือคนที่ใช้ยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะบ่อย ๆ จะพบการขาดวิตามินนี้ได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการขาดไบโอตินและแร่ธาตุที่จำเป็นอื่น ๆ ควรจะแน่ใจว่าทานอาหารได้เพียงพอและครบหมู่
อาหารที่มีไบโอติน
ไบโอตินมีในอาหารหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะมีในปริมาณน้อย อาหารที่พบไบโอตินมากและดูดซึมได้ง่ายได้แก่ ยีสต์ที่ใช้หมักเหล้า (brewer's yeast) นมผึ้ง อาหารอื่น ๆ ที่พบไบโอตินได้แต่ในปริมาณที่รองลงมา ได้แก่ ไข่แดง กล้วย ตับวัว นมสด ขนมปังธัญพืช หอยนางรม ปลา กะหล่ำดอก นอกจากนี้ยังพบได้น้อยกว่าในอาหารพวก ถั่ว เนื้อสัตว์ ชอคโกแล็ต ปริมาณที่ต้องการต่อวัน คืออย่างน้อย 30 ไมโครกรัม
ไบโอตินถูกทำลายได้ง่ายโดยขบวนการ พาสเจอร์ไรซ์ และการผ่านความร้อนสูงนาน ดังนั้นอาจเพิ่มเมนูอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ปลาดิบ (sashimi) สเต็ก ผัก – ผลไม้ดิบ บ้าง การดูดซึมไบโอตินจะลดน้อยลงได้ในบางภาวะ เช่นการใช้ยาปฏิชีวนะ ยากันชัก ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากๆ สูบบุหรี่ นักกีฬา โรคเบาหวาน ซึ่งพบได้บ่อยว่ามีการขาดไบโอติน ความต้องการไบโอตินจะสูงขึ้นในช่วงของการตั้งครรภ์และให้นมบุตร ในช่วงการตั้งครรภ์หากได้รับวิตามินบี ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และผมร่วงหลังคลอดได้
การขาดไบโอติน
การขาดไบโอตินนอกจากจะมีผลทำให้ผมร่วงแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า อ่อนเพลียเรื้อรัง อาการชา น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซีด และภูมิคุ้มกันลดลง อาการขาดไบโอตินรักษาได้โดยการให้วิตามินเสริม การใช้วิตามินไบโอตินสังเคราะห์นี้จะไม่ได้ผลดีและปลอดภัยเท่ากับการได้รับวิตามินชนิดนี้จากอาหารสดธรรมชาติ อาจใช้ไบโอตินผสมในแชมพู ครีมนวดผม หรือโลชั่นเพื่อช่วยในการรักษาภาวะผมร่วง
การใช้ไบโอตินเสริม ได้ผลดีในการช่วยการรักษาโรคของผิวหนัง ผมและเล็บ ทำให้อาการผมร่วงผื่นแพ้ที่หนังศีรษะ ผมเปราะบางขาดง่าย ผมแตกปลาย รากผมเสียหายดีขึ้นได้จริง
อาการขาดไบโอตินที่สังเกตได้ : คือผิวหนังแห้งเป็นขุย ผมร่วง ผมเปราะบาง ผิวหนังมีผื่นและติดเชื้อราได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อราแคนดิดา ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง มีอาการทางหัวใจ
ในเรื่องผมร่วงนั้นยังไม่มีผลการวิจัยที่ยืนยันชัดเจนว่าการได้รับไบโอตินเพียงอย่างเดียวสามารถลดอาการผมร่วงได้ แต่มีผลการวิจัยที่พบว่าการให้ไบโอตินทดแทนสามารถช่วยเรื่องเล็บเปราะบางได้ดี
- ตับวัว (beef liver) : ตับวัว 85 กรัม (3 ออนซ์) มีไบโอติน 30.8 mcg (ไมโครกรัม)
- ยีสต์ (brewer's yeast) : ยีสต์ 10 กรัม มีไบโอติน 25 mcg
- ไข่ โดยเฉพาะ ไข่แดง (eggs) : ไข่ 1 ฟอง มีไบโอติน 10 mcg
- เนื้อปลาแซลมอน (salmon) : แซลมอน 85 กรัม มีไบโอติน 5 mcg
- ดอกกระหล่ำ (cauliflower) : ดอกกระหล่ำ 1 ถ้วย มีไบโอติน 4 mcg
- เนื้อสันนอกหมูติดกระดูก (pork chop) : เนื้อสันหมู 85 กรัม มีไบโอติน 3.8 mcg
- มันเทศ (มันม่วง) (sweet potato) : มันเทศ 1/2 ถ้วย มีไบโอติน 2.4 mcg
- ถั่วอัลมอนด์ (almonds) : อัลมอนด์ 1/4 ถ้วย มีไบโอติน 1.5 mcg
- ถั่วต่างๆ (nuts and seeds) : ถั่ว 1/4 ถ้วย มีไบโอติน 1.5 mcg
- ทูน่า (tuna) : ทูน่า 85 กรัม มีไบโอติน 0.6 mcg
- ผักปวยเล้ง (spinach) : ปวยเล้ง 1/2 ถ้วย มีไบโอติน 0.5 mcg
- บล็อคโคลี่ (broccoli) : บล็อคเคอลี่ 1/2 ถ้วย มีไบโอติน 0.4 mcg
- เชดดาชีส (cheddar cheese) เป็นชีสกึ่งแข็ง รสชาติออกเค็มนิดๆ : เชดดาชีส 85 กรัม มีไบโอติน 0.4 mcg
- นม (milk) : นม 1 แก้ว (250 cc) มีไบโอติน 0.3 mcg
- โยเกิร์ต (yogurt) : โยเกิร์ต 1 แก้ว (100 cc) มีไบโอติน 0.2 mcg
- ข้าวโอ๊ต (oatmeal) : ข้าวโอ๊ต 1 ถ้วย มีไบโอติน 0.2 mcg
- กล้วย (banana) : กล้วย 1/2 ถ้วย มีไบโอติน 0.2 mcg