วิธีการรักษาผมร่วง ผมบาง ตามสาเหตุของอาการผมร่วง
ผู้ที่มารักษาเรื่องผมร่วงผมบาง ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ ในแต่ละวันจะมีทั้งผู้หญิงผู้ชาย อายุเฉลี่ย 17-65 ปี มีหลากหลายสาเหตุต่างๆ กันไป แต่โดยรวมแล้วประมาณร้อยละ 90 ของผู้ที่มารักษาจะมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ หรือ อิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย การให้การรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายจะให้ยาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการประเมินสาเหตุในเบื้องต้นและผลการตรวจสภาพหนังศีรษะ ทางไทยแฮร์เซ็นเตอร์ได้รวบรวมสาเหตุของผมร่วงของผู้ที่มารับการรักษาเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้
1. ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ทั้งหญิงและชาย
ผู้ที่มารับการรักษาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมีลักษณะเฉพาะที่พบร่วมได้คือ
- มีการร่นของแนวผมด้านหน้า หรือมุมซ้ายและขวาของหน้าผาก ทำให้หน้าผากมีลักษณะคล้ายรูปตัวอักษร M
- ผมบางจนมองเห็นหนังศีรษะบริเวณกลางกระหม่อมและบริเวณ ขวัญค่อนไปด้านหลัง
- ผมบริเวณเหนือกกหูทั้งสองข้าง และผมบริเวณท้ายทอย จะมีความหนาแน่นและขนาดเส้นผมปกติ
- มีหนังศีรษะอักเสบเป็นจุดแดงๆบริเวณรอบรูขุมขน
- มีหนังศีรษะมันมาก คันหนังศีรษะร่วม
- ในคนที่ศีรษะล้านมากๆ มักมีลักษณะบ่งว่าฮอร์โมนเพศชายสูงเช่น หน้ามัน หนวดเคราดก ขนที่อื่นมีเยอะ
- อาจจะมีหรือไม่มีประวัติว่า พ่อแม่มีปัญหาผมบางก็ได้
- มีผมร่วงมากจนน่าวิตก สังเกตพบได้ ที่ผ้าปูที่นอน ท่อระบายน้ำ ผ้าเช็ดตัวเวลาเช็ดผม
- ไม่มีการร่นแนวผมด้านหน้าผาก
- ผมบางเฉพาะด้านบนกลางศีรษะ สังเกตรอยแสกผมจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ
- ผมบริเวณเหนือกกหูทั้งสองข้าง และผมบริเวณท้ายทอย อาจจะมีความหนาแน่นลดลงและขนาดเส้นผมเล็กลงได้แต่จะดีกว่า บริเวณกลางศีรษะด้านบน
- มีหนังศีรษะอักเสบเป็นจุดแดงๆ บริเวณรอบรูขุมขน
- มีหนังศีรษะมันมาก คันหนังศีรษะร่วม
- อาจจะมีหรือไม่มีประวัติว่า พ่อแม่มีปัญหาผมบางก็ได้
- ในผู้หญิงมักจะมีประวัติความผิดปกติของรอบเดือนในอดีตร่วมด้วย เช่นมาไม่สม่ำเสมอ หรือมักจะขาดหายไปเป็นช่วงๆ
- กรรมพันธุ์ผมบางในผู้หญิงจะแสดงเด่นชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดรอบเดือน
- มีผมร่วงมากจนน่าวิตก สังเกตพบได้ ที่ผ้าปูที่นอน ท่อระบายน้ำ ผ้าเช็ดตัวเวลาเช็ดผม หรือเวลาสระผม ลูปผมจะร่วงติดมือ
แนวทางในการรักษากลุ่มนี้ทาง ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ จะต้องทำควบคู่กันไปคือ
1.ลดอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชายที่หนังศีรษะ
2.ลดการอักเสบของผิวหนังที่ศีรษะ
3.ลดปัญหาหนังศีรษะมัน
4.เพิ่มสารอาหาร ออกซิเจน และเลือดไปหล่อเลี้ยงรากผมให้มากขึ้น
ผลการรักษานี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยอย่างหนึ่งที่พบว่ามีความสำคัญมากคือ อายุของผู้ที่เข้ามารับการรักษา พบว่า
จากการสำรวจผู้ป่วยชาย 100 ราย ช่วงอายุ 24-55 ปี ของไทยแฮร์เซ็นเตอร์ ( ช่วงเวลาที่สำรวจ กันยายน 2551- เมษายน 2552 )
พบว่าอัตราความพึงพอใจของการรักษาจะมากในผู้ที่อายุน้อย
- อายุ 24-30 ปี อัตราความพึงพอใจประมาณ 85 % หลังการรักษา 3 เดือน แล้วเพิ่มขึ้นถึง 95% เมื่อรักษาครบ 6 เดือน
- อายุ 31-40 ปี อัตราความพึงพอใจประมาณ 75 % หลังการรักษา 3 เดือน แล้วเพิ่มขึ้นถึง 87% เมื่อรักษาครบ 6 เดือน
- อายุ 41-50 ปี อัตราความพึงพอใจประมาณ 65 % หลังการรักษา 3 เดือน แล้วเพิ่มขึ้นถึง 75% เมื่อรักษาครบ 6 เดือน
- อายุ มากกว่า 50 ปี อัตราความพึงพอใจประมาณ 62 % หลังการรักษา 3 เดือน แล้วเพิ่มขึ้นถึง 72% เมื่อรักษาครบ 6 เดือน
* หมายเหตุ : ความพึงพอใจของผู้เข้ารับการรักษาไม่ใช่ผลที่ได้จากการรักษาว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด แต่เป็นความพึงพอใจที่ผู้เข้ารับการรักษาได้แสดงออกจากการตอบแบบสอบถาม เพราะระดับความรุนแรงของผมร่วงผมบางในแต่ละรายที่มารับการรักษามากน้อยต่างกัน บางรายความคาดหวังเพียงมีแค่ผมขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือผมหยุดร่วงก็พึงพอใจแล้ว เป็นต้น
2. ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata)
ผมร่วงเป็นหย่อมนี้ มีผู้ป่วยอย่างน้อยวันละ 1-2 ราย มารักษาที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อาการเด่นคือ มีผมร่วงหายไปเป็นลักษณะวงๆ เป็นหย่อม บริเวณใดก็ได้ของหนังศีรษะ จะเป็นแบบวงเดียวหรือหลายวงก็ได้ ภาวะนี้สร้างความวิตกให้ผู้ที่ประสบเป็นอย่างมากเพราะเกรงว่าหย่อมผมร่วงจะขยายออกไป หรือมีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่เป็นสาเหตุ หรืออาจจะเกิดที่ตำแหน่งอื่นที่มีขนอยู่ เช่น หนวดเคราร่วงออกเป็นวง, ขนหน้าแข้งร่วงออกเป็นวง, ขนคิ้วร่วงออกเป็นวง ฯลฯ
- โรคนี้ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดแต่มีความสัมพันธ์กับ การแพ้สารเคมี, ยาบางชนิด, ภาวะวิตกหรือความเครียดทางจิตใจ, ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาทำลาย รากผมตัวเอง
- ลักษณะการร่วงอาจจะเป็นวงกลมหรือวงรีก็ได้ ขนาดใหญ่เล็กได้ทั้งนั้น บางครั้งเกิดหลายวงแต่ละวงลามใหญ่ขึ้นมารวมกันเหมือนกับเป็นวงใหญ่วงเดียว
- อาจจะพบร่วมกับความผิดปกติของเล็บได้เช่น เล็บหนา เปราะ ผิวขรุขระ
- ส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการแสดงออกทางโรคผิวหนังอื่นๆให้รู้ตัวมาก่อนเลย เช่น อาการคัน อักเสบ ปวดแสบปวดร้อน ฯลฯ ผู้ป่วยมารู้ตัวว่ามีผมแหว่งออกไปเป็นวงแล้วจากคนรอบข้างทัก คนที่ทักมักจะเป็น เพื่อนร่วมงาน ญาติ ช่างตัดผม เป็นต้น เมื่อเป็นใหม่ๆในระยะเวลาที่พึ่งเป็นมาเป็นวันหรือเดือน เมื่อมองที่รอยโรค คนส่วนใหญ่จะตกใจเพราะเป็นผิวหนังที่เรียบเนียนสีขาวอมชมพูอ่อนๆ มองไม่เห็นรูขุมขนเลย และคนส่วนใหญ่มักจะทึกทักเอาเองว่า เส้นผมไม่น่าจะขึ้นแล้วรูขุมขนปิดไปหมดแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตรงข้ามกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่เลย...เส้นผมยังมีโอกาสกลับมาขึ้นได้เหมือนเดิม แต่ในอีกกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายๆกัน ที่มีประวัติผมแหว่งออกไปเป็นปีๆแล้ว มาหาแพทย์ลักษณะรอยโรคที่เป็นมีลักษณะเป็นวงเหมือนกัน มองไม่เห็นรูขุมขนเหมือนกัน แต่ผิวหนังตรงวงจะมีลักษณะเป็นมันประกายสะท้อนแสงไม่อมสีขาวชมพูอ่อนๆ ในกลุ่มนี้มักจะเป็นโรคที่ทำให้ ผมร่วงแบบเป็นแผลเป็น มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีเช่นกัน กลุ่มนี้เส้นผมจะไม่มีวันที่จะกลับมาขึ้นอีกเลย (Cicatricial Alopecia) และในกลุ่มที่ผมร่วงแบบเป็นแผลเป็นมักจะมีสาเหตุมาจากโรคผิวหนังบางชนิดที่พบได้ไม่บ่อย เมื่อเป็นระยะแรกๆอาจจะแยกยากจากโรคผมร่วงเป็นวง (Alopecia areata) แต่มักจะมีอาการทางผิวหนังมาก่อน เช่น คัน แสบร้อน ผิวหนังอักเสบ เป็นตุ่มสิวฝีหนอง ฯลฯ
- โรคนี้สามารถเกิดได้ทุกที่ที่มีรูขุมขน เช่น หนวดเคราก็สามารถร่วงออกเป็นวงได้ หรือเกิดตำแหน่งอื่นๆอีกก็ได้
- บางรายผมร่วงออกมามีลักษณะเลือดออกที่โคนผม
- ที่ตำแหน่งชายขอบของวงผมร่วงจะพบผมเส้นสั้นๆ ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ หรือเครื่องหมายตกใจ (Exclamation mark hair - ! ! ! ! ! ! !) ความหมายคือจะมีการลีบเล็กลงของเส้นผมลงไปถึงโคนรากผม เชื่อว่าเกิดจากการมีการอักเสบของรากผม และในไม่ช้าผมที่มีลักษณะดังกล่าวก็จะร่วงออกไปทำให้วงผมร่วงเป็นหย่อมขยายตัวใหญ่ขึ้น
- ผิวหนังตำแหน่งที่ผมร่วงเป็นหย่อมมีลักษณะเนื้อเป็นสีขาวอมชมพูเรือๆ ขนที่ขึ้นเล็กมาก เป็นขนอ่อนสีขาว
- เมื่อหายผมที่ขึ้นใหม่อาจจะไม่ปกติเช่น มีสีเปลี่ยนเป็นสีขาว (เมื่อเวลาผ่านไป ผมจะกลับมาเป็นสีปกติเอง)
- โรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรงใดๆทั้งสิ้น ไม่ติดต่อไปยังผู้ใด ไม่ใช่มะเร็ง ไม่มีโรคร้ายซ่อนเร้นอยู่ ไม่ใช่เชื้อรา ไม่ใช่เอดส์ แต่มักจะสร้างความวิตกกังวลอย่างมากให้ผู้ป่วย ซึ่งเมื่อวิตกกังวลมากก็จะเป็นเหตุให้รอยโรคลุกลามขยายตัวกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งผมร่วงจนหมดศีรษะเลย (Alopecia Totalis)
- สามารถหายเองได้ ภายในระยะเวลา 6 เดือน - 2 ปี
- โรคผมร่วงเป็นวงนี้เวลาหายหรือโรคลดความรุนแรงลง มักจะเริ่มมีผมขึ้นที่กลางวงก่อนและมักจะเป็นขนอ่อนสีขาวๆ
- ในกลุ่มที่มีขนที่อื่นในร่างกายร่วงร่วมด้วย ไม่ว่า ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนหน้าแข้ง ขนในร่มผ้า กลุ่มนี้มักไม่ค่อยหายเอง หรือในคนที่มีประวัติเป็นซ้ำหลายๆครั้งในรอบ 5 ปี มักจะต้องพึ่งยาในการรักษา
- หากเกิดกับคนที่มีบุคลิกภาพพิเศษ ย้ำคิดย้ำทำ มีความกังวลเป็นนิจ เป็นคนเจ้าระเบียบ เคร่งครัดในระเบียบวินัย พักผ่อนน้อย เครียดเป็นกิจวัตร อาการผมร่วงเป็นวงมักไม่หายเองจะต้องพึ่งการรักษาจากแพทย์ คนเหล่านี้เมื่อมาพบแพทย์จะตรวจสภาพจากภายนอกมีลักษณะที่สำคัญคือ สีหน้าจะแสดงออกถึงความวิตกกังวล ขอบตาด้านล่างทั้ง 2 ข้างจะมีลักษณะคล้ำแสดงออกถึงการพักผ่อนน้อยและวิตกกังวล
- โรคผมร่วงเป็นวงนี้ ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ จะพบผู้ป่วยโรคนี้ชุกขึ้นในช่วง กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ของทุกปี และพบในกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับตัวเลข เช่น สำนักบัญชี งานบริษัทเกี่ยวข้องกับงานบัญชี งานด้านกฏหมาย ฯลฯ ซึ่งในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำหนดให้มีการส่งงบดุลบัญชีประจำปีของนิติบุคคลต่อทางราชการ ซึ่งเป็นไปได้ว่าลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข การเร่งรัดของงานอาจจะสร้างภาวะวิตกกังวลและความเครียดให้คนทำงานมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการ ผมร่วงเป็นวง มากขึ้นในช่วงนี้
- โรคผมร่วงเป็นวงนี้บางคนเรียกโรคAA (Alopecia Areata) และอธิบายการเกิดว่าเป็นโรคเม็ดเลือดขาวกินรากผม แต่โดยหลักการเกิดนั้นเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแปรปรวนทำให้ ร่างกายสำคัญผิดว่ารากผมคือสิ่งแปลกปลอม จึงมี การทำลายรากผมตัวเอง เกิดขึ้น แต่การทำลายรากผม หรือรากขนตัวเองนั้นสามารถเกิดได้ทั้งแบบร่างกายส่งเม็ดเลือดขาวไปกินหรือร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไปทำลาย เป็นได้ทั้งสองแบบ
- ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พบคนไข้ที่มีปัญหาผมร่วงเป็นวงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซึ่งจะเกิดได้หลังได้รับวัคซีนในช่วงประมาณ 1-6 เดือน หรือพบมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีประวัติว่าติดเชื้อโควิดมาก่อนในช่วง 1-6 เดือนที่ผ่านมา กลไกการเกิดเชื่อว่าสัมพันธ์กับภาวะเครียดของผู้ป่วยเอง
- อ่านสาเหตุอื่นที่ทำให้ผมร่วง
แนวทางการรักษา ต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เป็น และยืนยันให้ได้ว่าเป็นโรคชนิดนี้ไม่ใช่สาเหตุอย่างอื่น การรักษาส่วนใหญ่เป็นการประคับประคอง ป้องกันไม่ให้ผมร่วงเป็นหย่อม ลามใหญ่ขึ้นด้วยยาทาชนิดครีมหรือชนิดน้ำ และเร่งให้หายกลับมาปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ยังเสริมด้วยกลุ่มยาและวิตามินที่เร่งการเจริญเติบโตของเส้นผม
3. ผมร่วงทั้งศีรษะ
อาการผมร่วงทั้งศีรษะ เป็นได้ทั้งหญิงและชาย แต่ในผู้หญิงจะพบมากกว่า สามารถแยกจาก ผมบางจากกรรมพันธุ์ได้ง่ายมากจากการตรวจสภาพผิวหนังศีรษะ และตำแหน่งผมบาง ถ้าเป็นจากกรรมพันธุ์ ผมตำแหน่งเหนือกกหูและด้านหลังท้ายทอยจะหนาปกติ ส่วนสาเหตุของผมร่วงทั้งศีรษะที่พบบ่อยและเป็นปัญหาที่มาปรึกษาที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์บ่อยๆคือ
- เป็นชนิดเดียวกับผมร่วงเป็นหย่อมแต่เป็นกระจายทั่วศีรษะหลายๆวง จนดูเสมือนหนึ่งว่าผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis)
- ผมร่วงทั้งศีรษะจากการมีประวัติรับประทานยามาประจำต่อเนื่อง หรือพึ่งจะหยุดยาไปในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยาที่พบบ่อยคือ ยารักษาสิว, ยาลดความดันโลหิตกลุ่มต้านเบต้า, ยารักษาเกาท์, ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคซึมเศร้า, ยารักษาโรคประสาทกังวล, ยาลดน้ำหนักประเภทไม่ให้อยากอาหาร ดูรายชื่อยาอื่นที่ทำให้ผมร่วง
- ผมร่วงมากจากการขาดสารอาหารและวิตามิน เช่น ซีดจากขาดธาตุเหล็ก, ขาดวิตามินบี อย่างรุนแรง, โรคเลือดชนิดซีด ธาลัสซีเมีย
- ผมร่วงในผู้ชายที่เล่นกล้าม แล้วกินอาหารที่ขึ้นชื่อว่าช่วย เร่งการเผาผลาญ (Fat Burner), หรือ ในบางรายใช้การเร่งกล้ามเนื้อโดยใช้ฮอร์โมนเพศชายแบบผิดวัตถุประสงค์ หรือ ใช้ Growth Hormone
- ผมร่วงทั้งศีรษะจากการลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว
- ผมร่วงทั้งศีรษะจากการหายจากโรคที่ทำให้มีไข้สูงมาก่อนหน้านี้ 60 - 120 วัน เช่น โรคไข้ไทฟอยด์, โรคไข้เลือดออก, โรคติดเชื้อที่ทำให้มีไข้สูงอื่นๆ เป็นต้น
- ผมร่วงหลังคลอดได้ 3-4 เดือน : กลุ่มนี้หากไม่รักษาสามารถหายเองได้ภายใน 6-18 เดือนหลังคลอด
- ผมร่วงหลังเจ็บป่วยเรื้อรัง นอนป่วยอยู่นาน หรือเข้ารับการผ่าตัดระบบช่องท้องที่ต้องนอนนานและรับประทานอาหารได้น้อยลง
- ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พบคนไข้ที่มีปัญหาผมร่วงกระจายทั้งศีรษะมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีประวัติว่าติดเชื้อโควิดมาก่อนในช่วง 1-6 เดือนที่ผ่านมา กลไกการเกิดเชื่อว่าสัมพันธ์กับภาวะเครียดของผู้ป่วยเอง ทำให้มีการเกิดภาวะผมผลัดมากกว่าปกติ (Telogen effluvium) ซึ่งภาวะนี้เกิดได้จากการที่เส้นผมมีอายุสั้นกว่าปกติ ทำให้หมดอายุเร็วจึงผลัดออกมา บางรายเป็นมากจนน่าตกใจ
- อ่านสาเหตุอื่นที่ทำให้ผมร่วงทั้งศีรษะ
4. ผมร่วงจากการแพ้สารเคมี
ผมร่วงจากการแพ้สารเคมีบางชนิด เป็นผมร่วงแบบทั่วทั้งศีรษะ สารเคมีที่พบบ่อยมักจะเป็น น้ำยาย้อมผม, น้ำยายืดผม, น้ำยาดัดผม, แชมพูที่เปลี่ยนมาใช้ใหม่ เป็นต้น ในกลุ่มที่มารักษาที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ในกลุ่มนี้ มักจะมีประวัติสัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้มาก่อน 2-3 เดือนก่อนที่จะมีอาการผมร่วง และอาการผมร่วงจะดูไม่รุนแรงจนบางครั้งไม่รู้ตัวจนมีผู้อื่นมาทักว่าผมบางมาก จึงหันมาสนใจแลัวมาปรึกษาแพทย์ที่ ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ นอกจากนี้การตรวจหนังศีรษะอาจจะพบร่องรอยของการอักเสบร่วมด้วย แต่ในรายที่ผ่านไปนานแล้วหลังสัมผัสสารเคมี การตรวจหนังศีรษะอาจจะไม่พบร่องรอยของการอักเสบเลย