สาเหตุของผมร่วง ผมร่วงเกิดจากอะไร ?
วงจรปกติของการเจริญเติบโตของเส้นผม วงจรปกติของเส้นผมอยู่ในช่วง 2–6 ปี ผมแต่ละเส้นยาวประมาณ 1 ซม. ต่อเดือนในช่วงที่มีการเจริญเติบโต
- ประมาณ 90 % ของเส้นผมบนศีรษะ กำลังเจริญเติบโตยาวเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาขณะหนึ่งๆ
- อีกประมาณ 10 % อยู่ในระยะพักคือไม่ยาวเพิ่มขึ้นแล้วรอการหลุดร่วง
หลังจากนั้น 2–3 เดือน ผมที่อยู่ในระยะพักจะร่วงไป และมีผมใหม่ขึ้นมาแทนที่บริเวณเดิมที่ร่วงไป นี่คือวงจรปกติของเส้นผม อย่างไรก็ตามในบางคนอาจพบว่ามีผมร่วงมากกว่าปกติซึ่งสามารถพบได้ในผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย รวมทั้งในเด็กก็อาจพบได้ด้วย
โปรดระลึกไว้ว่า : ในคนที่มีปัญหาผมร่วงทั้งผมร่วงแบบเฉียบพลันและผมร่วงเรื้อรัง ส่วนใหญ่สาเหตุของผมร่วงไม่ได้มีมาจากสาเหตุเดี่ยวๆอย่างเดียว มักจะเป็นหลายๆสาเหตุประกอบกัน
ทางไทยแฮร์เซ็นเตอร์ได้พบความจริงข้อนี้จึงทำให้การรักษาอาการผมร่วงของทางไทยแฮร์ฯเองได้รักษาแบบครอบคลุมสาเหตุส่วนใหญ่ไว้เกือบทั้งหมดในคราวเดียวกันเพื่อผลการรักษาที่ดีกว่า อัตราการหายจะสูงกว่าการรักษาแบบเจาะจงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเท่านั้น
สาเหตุของผมร่วงมากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า ผมร่วงผิดปกติ
ผมร่วงมากกว่าปกติอาจพบได้ในภาวะดังต่อไปนี้
- อาการเตือนเริ่มต้นของภาวะผมบางกรรมพันธุ์ ในคนที่มียีนศีรษะล้านกรรมพันธุ์ เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ ฮอร์โมน DHT ที่เปลี่ยนมาจากฮอร์โมนเพศชายโดยมียีนเป็นตัวกำกับ เริ่มออกฤทธิ์ทำงาน เริ่มทำลายรากผม จะทำให้ผมร่วงออกมามากๆเป็นสัญญานเตือนเริ่มต้นว่าภาวะผมบางกรรมพันธุ์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยแต่ละคนจะแสดงออกในอายุต่างกันเพราะมีปัจจัยแวดล้อมต่างกันในแต่ละบุคคล - ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะศีรษะล้านกรรมพันธุ์
- หลังการเจ็บป่วยหรือหลังผ่าตัดใหญ่ ประมาณ 3–4 เดือน ภาวะนี้สัมพันธ์โดยตรงกับความเครียด และการเจ็บป่วย และจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น บางครั้งผมร่วงมากจริงๆจนน่าตกใจและผู้ป่วยก็ลืมไปแล้วว่าตัวเองไม่สบายย้อนไปก่อนหน้านี้ 3-4 เดือน อาการผมร่วงหลังผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใช้เวลาผ่าตัดนาน สัมพันธ์กับยาที่ให้ในช่วงดมยาสลบด้วย ทั้งในรูปยาฉีดหรือยาดมไอระเหย
- ภาวะไข้สูงก่อนจะมีผมร่วง 60-120 วัน ในคนที่มีผมร่วงแบบมากๆ อาจจะลืมไปว่าในอดีตย้อนกลับไป 2-4 เดือนก่อนหน้านี้ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ทำให้มีไข้สูง 39 -40 °C - องศาเซลเซียส เช่น โรคที่พบบ่อย คือ ไข้เลือดออก, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ไทฟอยด์, ไข้จากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ อาการผมร่วงจากภาวะนี้เองอาจจะเป็นผลโดยตรงจากโรคเหล่านี้เอง หรือเป็นจากยาที่ใช้รักษาโรคเหล่านี้ตอนที่เป็น
- ผมร่วงจากการมีน้ำหนักลดลง ไม่ว่าน้ำหนักที่ลดลงจะเป็นด้วยความตั้งใจควบคุมหรือจากความเจ็บป่วย ไม่ว่าจะจากการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร หากลดลงอย่างมากและรวดเร็วเกิน 1.5 กก./เดือน มีโอกาสที่จะเกิดผมร่วงได้อย่างมากๆทั้งสิ้น
- ภาวะเครียดอย่างรุนแรงหรือเรื้อรังสะสม มักมีปัญหาในชีวิตส่วนตัวที่ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ มีความวิตกกังวล หรือมีความเศร้าโศกเสียใจทั้งแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังสะสม ที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ พบปัญหานี้ที่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยมารับการปรึกษารักษามีเหตุมาจากปัญหาครอบครัวเป็นส่วนใหญ่
- ปัญหาทางด้านฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ เช่น โรคไทรอยด์ ทั้งในกลุ่มของไทรอยด์เป็นพิษและในกลุ่มที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ นอกจากนี้ ฮอร์โมนในเพศชาย แอนโตรเจน (Androgen), ฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน ที่ไม่สมดุลย์ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะผมร่วงได้
- หลังคลอด มักจะพบในช่วง 3 เดือนหลังคลอดภาวะนี้เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงตั้งครรภ์ด้วย ในช่วงการตั้งครรภ์จะมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนบางชนิดซึ่งทำให้ผมร่วงน้อยกว่าปกติ หลังคลอดฮอร์โมนเหล่านี้จะลดลงจนอยู่ในระดับปกติก่อนตั้งครรภ์ ทำให้ผมร่วงมากขึ้น และกลับสู่วงจรปกติของการเติบโตและร่วงของเส้นผม
- ผมร่วงจากยาบางชนิด เป็นชนวนเหตุของผมร่วงได้ เช่น ยาต้านเกร็ดเลือด ยารักษาโรคเก๊าท์ ยาลดความดันบางชนิด ยาคุมกำเนิดบางยี่ห้อ ยารักษาสิวบางตัว ยาเคมีบำบัด วิตามินเอ ยาคุมกำเนิด และยาต้านโรคซึมเศร้า ฯลฯ ยาที่ทำให้ผมร่วงไม่จำเป็นจะต้องเป็นเฉพาะยากินเท่านั้น ยาที่บริหารในรูปแบบอื่นก็สามารถทำให้ผมร่วงได้ เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด, ยาหยอดตาชนิดต้านเบต้า, ยาทาใช้ภายนอก ฯลฯ ผมร่วงจากสาเหตุนี้ สามารถดีขึ้นได้ ถ้าหยุดยาดังกล่าว : ดูรายละเอียด : ยาที่ทำให้ผมร่วง
- โรคติดเชื้อ เช่น เชื้อราที่หนังศีรษะ อาจพบทำให้เกิดผมร่วงได้ในเด็กเล็ก ผมร่วงชนิดนี้จะสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อรา
- โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคลูปัส อาการผมร่วงอาจพบเป็นอาการแสดงเบื้องต้นของโรคเหล่านี้ ดังนั้นจึงควรหาสาเหตุของอาการผมร่วงก่อนที่จะได้รับการรักษา
การดูแลรักษาผมที่ไม่เหมาะสมสามารถทำให้เกิดผมร่วงได้หรือไม่ ?
ใช่! การถักเปีย หรือการใช้โรลม้วนผมแน่น ๆ ดึงผมบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดผมร่วงจากการดึงรั้ง ถ้าการดึงรั้งนี้รุนแรงจนทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่บริเวณหนังศีรษะ ก็อาจทำให้เกิดภาวะผมร่วงผมบางแบบถาวรได้ การใช้สารเคมีที่ผมหรือหนังศีรษะ เช่นการทำ Hot oil hair treatments หรือการย้อมผม อาจทำให้เกิดการอักเสบที่รากผมแบบเรื้อรังเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งทำให้เกิดรอยแผลเป็น และเกิดภาวะผมร่วงตามมาได้
ชนิดของศีรษะล้านพบได้บ่อย
ศีรษะล้านที่พบได้บ่อยคือ ศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยในผู้ชาย ผู้ชายที่มีภาวะผมร่วงตั้งแต่อายุยังน้อยจะพบว่ามีความรุนแรง และพบศีรษะล้านเป็นบริเวณกว้างได้มากกว่าผู้ชายที่พบภาวะผมร่วงเมื่ออายุมาก รูปแบบศีรษะล้านในผู้ชาย อาจพบว่ามีการถอยร่นของแนวผมขึ้นไปเป็นรูปตัว M หรือมีศีรษะล้านบริเวณส่วนบนของศีรษะกลางกระหม่อม
แพทย์สามารถทำอะไรเพื่อหยุดอาการผมร่วงได้หรือไม่?
แพทย์จะซักประวัติ เช่น การใช้ยาที่ใช้อยู่ประจำ เนื่องจากมียาบางชนิดที่เป็นเหตุทำให้ผมร่วงได้, อาหาร, โรคประจำตัวที่สัมพันธ์กับการมีผมร่วง, ประวัติการมีของประจำเดือนเกี่ยวของกับการเปลี่ยนระดับของฮอร์โมน, การตั้งครรภ์และตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของผมร่วง ในบางรายอาจต้องตรวจเลือดเพื่อช่วยให้การวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุของโรค
ผมร่วงสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
ขึ้นอยู่กับชนิดของผมร่วง เช่นผมร่วงจากความผิดปกติของฮอร์โมน ผมร่วงจากการใช้ยาบางชนิด ผมร่วงจากโรคติดเชื้อ สามารถรักษาให้หายขาดได้ถ้าเราแก้ไขภาวะผิดปกติดังกล่าวไปแล้ว ร่วมกับการใช้ยา ภาวะศีรษะล้านจากพันธุกรรม สามารถชะลอและป้องกันได้จากการรักษาด้วยยาบางชนิดเช่น Minoxidil, Finasteride ซึ่งควรใช้ตามใบสั่งแพทย์ ในบางรายระยะเวลาที่เริ่มเห็นผลอาจใช้เวลาถึง 6 เดือน จึงจะบอกได้ว่ายาแต่ละชนิดที่ใช้นั้นได้ผลหรือไม่ ดังนั้นก่อนที่จะรับการรักษาภาวะผมร่วง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุจากแพทย์ เพื่อการรักษาที่ตรงกับโรค และได้ผลดียิ่งขึ้น
มีทางเลือกอื่นไหมในการรักษาภาวะศีรษะล้าน?
มี !
* การต่อผมหรือการถักทอผม ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถาวร ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและผลที่ได้รับขึ้นอยู่กับคุณภาพของสถานที่ที่ทำ
* การทำศัลยกรรม ได้แก่การทำการปลูกผมทั้งแบบผ่าและแบบเจาะ (Hair transplantation - FUSS or FUE) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี ถาวร แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และไม่ใช่ทุกรายที่จะสามารถเลือกรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ดังนั้นจึงควรเริ่มการรักษาผมร่วงก่อน เพื่อป้องกันภาวะศีรษะล้านที่จะเกิดขึ้น และในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ทำ ศัลยกรรมปลูกผม ทั้งแบบมีแผลผ่าตัด (FUSS - Follicular Unit Strip Surgery แพทย์บางท่านใช้คำย่อว่า FUT - Follicular Unit Transplantation) หรือ ปลูกผมแบบเจาะ (FUE - Follicular Unit Extraction) หลังปลูกผมแล้วก็ยังคงต้องกินยาต่อเพื่อประคองผมในส่วนที่ไม่ได้ทำศัลยกรรมเพื่อไม่ให้บางและเส้นผมเล็กลงมากไปกว่าเดิม
* หมายเหตุ คำว่า FUE ซึ่งสื่อความหมายถึงการทำศัลยกรรมปลูกผมแบบเจาะ ในทั่วโลกเลยก็ว่าได้ มักจะถูกนำมาบิดเบือนว่าเป็น การปลูกผมแบบไร้แผลผ่าตัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นการผ่าตัดขนาดแผลเล็กมากแบบเจาะ มีแผลเป็นเหมือนกันที่เล็กมาก สมาคมศัลยแพทย์ปลูกผมนานาชาติ (ISHRS) จึงได้มีมติในปี 2018 ให้เปลี่ยนคำย่อของ FUE ใหม่ให้เป็น FUE - Follicular Unit Excision : Donor Harvesting: Follicular Unit Excision : วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสื่อให้ทั่วโลกได้ทราบว่า FUE คือการผ่าตัดชนิดหนึ่งและมีแผลผ่าตัดด้วยแม้แผลนั้นจะเล็กมากแบบไม่ต้องเย็บ