ยาปลูกผม ยารักษาผมร่วง
ยารักษาผมร่วงมีหลายกลุ่มและมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป แต่ความเข้าใจของคนทั่วไปมักจะเรียกเหมารวมว่าเป็น ยาปลูกผม
ภาวะศีรษะล้านโดยทั่วไปรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่ภาวะหรืออาการผมร่วงสามารถลดลงและเส้นผมสามารถถูกกระตุ้นให้ขึ้นใหม่ได้ดีขึ้นได้ โดยการใช้ยาปลูกผม ประสิทธิภาพของยาปลูกผมขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงของอาการร่วงและลักษณะของแต่ละบุคคล ยาปลูกผมโดยทั่วไปที่นิยมใช้กันมีดังนี้
- Minoxidil - ไมน็อกซิดิล ได้รับการรับรองในการใช้เพื่อการรักษาผมร่วงจากพันธุกรรม (Androgenic Alopecia) และผมร่วงเป็นหย่อม ๆ (Alopecia Areata) มีทั้งชนิดที่ใช้เป็นยากิน และยาทาภายนอกบริเวณหนังศีรษะที่พบว่ามีผมร่วงมาก ใช้ได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ในรูปของยาทาใช้ทาวันละ 2 ครั้งและใช้ได้ดีในผู้ที่มีผมร่วงตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ฤทธิ์ของยาจะช่วยลดการหลุดร่วงของผม และกระตุ้นให้ผมขึ้นใหม่ ในรูปแบบของยาทามี 2% - 5% ส่วนผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ คันบริเวณหนังศีรษะและแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำละลาย อาจทำให้หนังศีรษะแห้งได้ ผลข้างเคียงของยาในรูปแบบยากิน ได้แก่ บวมที่บริเวณหน้าและแขน – ขา, หัวใจเต้นเร็ว, เวียนศีรษะ, ขนขึ้นบริเวณใบหู และอาจทำให้เกิดผมร่วงได้ในช่วงระยะแรกของการใช้ยา เมื่อหยุดการใช้ยาฤทธิ์ของยาก็จะหมดไป ผมที่ขึ้นใหม่ก็จะหยุดขึ้นด้วย การใช้ยาจะเริ่มเห็นผลที่ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน
- Finasteride - ฟีแนสเตอร์ไรด์ ยาชนิดนี้อยู่ในรูปของยากิน ใช้เพื่อรักษาภาวะศีรษะล้านรูปแบบผู้ชาย ยาจะออกฤทธิ์โดยลดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็น DHT ซึ่งทำให้เกิดภาวะผมร่วง ยาจะลดการหลุดร่วง และอาจกระตุ้นการขึ้นใหม่ของผม จะเริ่มเห็นผลของยาที่ระยะประมาณ 4 – 5 เดือน และจะต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะเห็นผลชัดเจน ประสิทธิผลของยาอยู่ที่ประมาณ 60 – 80 % ขึ้นกับแต่ละบุคคล ยาค่อนข้างปลอดภัย มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ ความต้องการทางเพศ และการแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลงพบได้ประมาณ 2 - 5 % ปริมาณน้ำอสุจิลดลง ผลข้างเคียงนี้จะกลับคืนสู่ปกติเมื่อหยุดการใช้ยา และอาจลดลงหรือหายไปได้เมื่อใช้ยาไประยะเวลาหนึ่ง ยาชนิดนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้หญิง และหากใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกที่เกิดมาพิการได้
- Corticosteroids - สเตียรอยด์ ใช้ในการรักษาภาวะผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ผมร่วงจากอาการแพ้ อาจใช้ในรูปของยาฉีดเข้าที่บริเวณหนังศีรษะหรือยากิน ผมที่ขึ้นใหม่จะสังเกตเห็นได้หลังจากใช้ยาไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ ในบางครั้งอาจใช้ในรูปของยาทาได้
- Dutasteride - ดูทาสเตอร์ไรด์ เป็นยาใหม่ที่ใช้ในการรักษาต่อมลูกหมากโต และภาวะศีรษะล้านรูปแบบผู้ชาย ยาตัวนี้ออกฤทธิ์เหมือนกับ finasteride คือขัดขวางการเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เป็น DHT ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะศีรษะล้านดังกล่าว ยาจะอยู่ในรูปของยากิน และยาทาเฉพาะที่หนังศีรษะ ผลข้างเคียงของยาคล้ายกับที่พบใน finasteride เช่น ความต้องการทางเพศลดลง การแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง ผลข้างเคียงนี้สามารถหายไปได้เมื่อหยุดใช้ยา หรือใช้ยาต่อเนื่องไประยะเวลาหนึ่ง อาการแพ้ยาพบได้น้อยมาก เช่น ผื่น คัน บวม เวียนศีรษะ ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากทำให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติได้ จะเริ่มเห็นผลของยาภายหลังจากใช้ยาไปแล้วประมาณ 3 เดือน ยาตัวนี้ในปัจจุบันมีจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว ส่วนใหญ่แพทย์ที่จ่ายยานี้เป็นแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะใช้รักษาต่อมลูกหมากโต
- กฎเหล็ก 6 ข้อเพื่อป้องกันศีรษะล้านก่อนวัย
- ยาฟีเนสเตอร์ไรด์มีผลข้างเคียงอย่างไร
- ผมร่วงมั๊กม๊ากทำไงดีคับ
- ผมจะร่วงได้วันละกี่เส้น
- ยาปลูกผมที่ใช้ในผู้หญิง
- เคล็ดลับวิธีป้องกันผมแตกปลาย
- ยาที่ทำให้เกิดอาการผมร่วง