ยาปลูกผมที่ใช้ในผู้หญิง
ยาปลูกผมที่ใช้ในผู้หญิงส่วนใหญ่ ใช้ในการรักษา ภาวะผมร่วงจากกรรมพันธุ์ (androgenic alopecia) แพทย์ส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงการใช้ยากิน ในขณะที่ยากินก็ได้ผลดีระดับหนึ่ง การหลีกเลี่ยงการใช้ยากิน จนกว่าจะแน่ใจว่าภาวะผมร่วงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากผลของการที่มีฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) หรือมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนโดรเจนที่มากเกินไป เนื่องจากการใช้ยาปลูกผมชนิดกินส่วนใหญ่ ทำให้ระดับของแอนโดรเจนในร่างกายลดลง ดังนั้นการใช้ยาทาเฉพาะที่จึงเป็นที่นิยมกว่า ในการรักษาผมร่วงแก้ปัญหาผมบางในผู้หญิง
ผลการรักษาที่ดีที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเริ่มการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากยิ่งปล่อยให้ปัญหาผมร่วงเกิดขึ้นนานเท่าไร รากผมก็จะถูกทำลายไปได้มากเช่นกัน การใช้ยาปลูกผมที่มีฤทธิ์ต้านแอนโดรเจน (anti – androgens) หลังจากเกิดภาวะผมร่วงมาเป็นเวลานาน จะช่วยเพียงป้องกันผมไม่ให้ร่วงมากขึ้น และกระตุ้นให้ผมขึ้นในบริเวณที่ยังมีรากผมเหลืออยู่เท่านั้นแต่ไม่สามารถช่วยในบริเวณที่รากผมมีการเสียหายไปแล้วแบบถาวร การได้รับวิตามินและเกลือแร่เสริมอย่างเพียงพอจะช่วยในการเสริมฤทธิ์การรักษาด้วยยาต้านแอนโรเจนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
ในปัจจุบันนี้มียาปลูกผมเพียงชนิดเดียวที่องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองให้ใช้ในการรักษาภาวะผมร่วงจากพันธุ์กรรมในผู้หญิง อย่างไรก็ตามยังมียาอีกหลายตัวในกลุ่มนี้ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย และได้ผลดีระดับหนึ่ง ประสิทธิภาพของยาขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในแต่ละบุคคล วิธีการใช้ มีหลายคนที่ได้ผลดี สามารถเพิ่มปริมาณของเส้นผมและมีผลดีต่อบุคลิกภาพได้อย่างน่าพอใจ ยาในกลุ่มนี้ได้แก่
- ยาทาภายนอกไมนอกซิดิล 2% (Minoxidil 2% Topical treatment) ยาชนิดนี้ผลิตครั้งแรกในรูปของยาเม็ด เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ต่อมาผู้ใช้พบว่ามีผลข้างเคียงคือทำให้ผมและขนดกขึ้น จึงได้ทำการทดลองใช้ยาในรูปของการทาเฉพาะที่พบว่าสามารถซึมผ่านผิวหนังและกระตุ้นให้ผมขึ้นได้ ปริมาณของยาที่ซึมผ่านผิวหนังไม่มาก จึงไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่ออวัยวะภายในอื่นๆได้
ผู้หญิงที่มีผมร่วงจากกรรมพันธุ์แบบทั่วๆ ไป สามารถใช้ไมนอกซิดิล และดูเหมือนว่ายานี้จะได้ผลในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ยานี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ใช้ในผู้หญิง การใช้ในขนาดความเข้มข้นที่สูงขึ้น (5%) จะสามารถลดการหลุดร่วง และกระตุ้นการขึ้นใหม่ของผมได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ยาที่ยับยั้งการจับกับตัวรับแอนโดรเจน (Androgen Receptor Inhibitors)
ยาในกลุ่มนี้ผลการรักษาในแต่ละคนไม่แน่นอน บางคนได้ผล บางคนไม่ได้ผล ยาออกฤทธิ์เสมือนหนึ่งให้การทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจนลดลง ยาในกลุ่มนี้มี
- Aldactone® / Spironolactone อัลแดคโตน® / สไปโรโนแลคโตน
- เป็นยาขับปัสสาวะชนิดหนึ่ง ใช้ในการลดปริมาณน้ำที่มากเกินไปในร่างกาย ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง, รักษาอาการบวมและใช้ในการรักษาภาวะพร่องโปแตสเซียม (potassium deficiency) มีฤทธิ์ในการต้านแอนโดรจีนิก 2 ทางคือ ลดการสร้างแอนโดรเจนจากต่อมแอดรีนัลและรังไข่ และป้องกันไม่ให้ DHT จับกับตัวรับแอนโดรเจน เพื่อออกฤทธิ์ได้ - Cimetidine / Tagamet® ไซเมททิดิน / ทากาเมท®
- อยู่ในกลุ่มของยาต้านฮีสตามีน (histamine H2-blockers) ใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร โดยลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านแอนโดรเจน โดยป้องกันไม่ให้ DHT ไปจับกับตัวรับบริเวณรากผมได้ ยานี้สามารถใช้ในการรักษาภาวะขนดกที่ใบหน้าและภาวะผมร่วงที่พบในผู้หญิงได้ แต่เนื่องจากต้องใช้ในขนาดสูงในการทำให้ผมขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในการรักษาภาวะผมร่วงในผู้ชาย เนื่องจากอาจทำให้เกิดลักษณะของผู้หญิงขึ้นได้รวมทั้งผลข้างเคียงทางเพศด้วย - Cyproterone Acetate ไซโปรเทอโรน อาซีเตท
- ใช้ในการรักษาภาวะขนดกในผู้หญิง ใช้ในการลดความต้องการและความรุนแรงทางเพศที่มากเกินไปในผู้ชายได้ด้วย ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์โดยป้องกันการที่ DHT จะไปจับกับตัวรับ ทำให้ลดการผมร่วงได้ ยาชนิดนี้เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดพิษ และมีผลข้างเคียงได้ ดังนั้นจึงเป็นตัวเลือกสุดท้ายในการใช้เพื่อรักษาผมร่วง - Estrogen /Progesterone เอสโตรเจน / โปรเจสเตอโรน
- เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน ดังนั้นจึงนิยมใช้ในการรักษาภาวะผมร่วงจากกรรมพันธุ์ในหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีการขาดฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ - ยาคุมกำเนิด
- เนื่องจากยาคุมกำเนิดบางชนิดสามารถลดการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนจากรังไข่ จึงสามารถใช้ในการรักษาผมร่วงได้ ในขณะเดียวกันยาคุมกำเนิดบางชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดผมร่วงได้ด้วย ดังนั้นก่อนการใช้จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน ยาคุมที่มีปริมาณแอนโดรเจนต่ำเท่านั้นที่สามารถรักษาภาวะผมร่วงได้ ส่วนยาคุมที่มีแอนโดรเจนสูงจะกระตุ้นให้เกิดผมร่วงมากขึ้น - Nizoral® / Ketoconazole ไนโซรอล® / คีโตโคนาโซล
- ในรูปใช้เฉพาะที่ คีโตโคนาโซลทั่วไปใช้ในการรักษาเชื้อรา แต่เนื่องจากมันมีฤทธิ์ในการลดการสร้างเทสโทสเตอโรน (testosterone) และแอนโดรเจนอื่นจากต่อมแอดรีนัลและอวัยวะเพศ จึงสามารถใช้ในการรักษาผมร่วงได้ ไนโซรอลแชมพูไม่เฉพาะเพียงใช้ในการรักษาโรคเชื้อราที่หนังศีรษะเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้เสริมในการรักษาผมร่วงได้ด้วย ที่ใช้ได้ผลดีควรใช้ความเข้มข้นที่ประมาณ 2 % - Proscar® / Propecia® โปรสคาร์® / โปรพีเชีย®
- ฟีแนสเตอไรด์ มีฤทธิ์ในการต้านเอนไซม์ 5 – อัลฟา รีดัสเทส ซึ่งจะเปลี่ยนเทสโทสเตอโรนเป็น DHT ซึ่งทำให้ผมร่วง ใช้ครั้งแรกในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต โดยใช้ขนาด 5 mg แต่ขนาด 1 mg ใช้ในการรักษาผมร่วงได้ผลดีในผู้ชาย ทั้งป้องกันผมไม่ให้ร่วงมากขึ้น และกระตุ้นการขึ้นใหม่ของผม และอาจได้ผลดีในผู้หญิงบางราย ห้ามใช้ยาชนิดนี้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้ทารกเกิดมาพิการได้ ดังนั้นจึงควรคุมกำเนิดไว้ตลอดในช่วงของการใช้ยานี้ แม้ยานี้จะสามารถใช้ได้เป็นรายๆไปในผู้หญิง ทางไทยแฮร์ฯเอง ก็ไม่ได้ใช้ยาตัวนี้รักษาผมร่วงในผู้หญิง - Cyproterone Acetate with Ethinyloestradiol ไซโปรเทอโรน อาซีเตท ร่วมกับเอททินิลเอสตราไดออล
- ชื่อการค้าคือ ไดแอน 35® และไดแอน 50® (Diane 35® and Diane 50®) เป็นยาคุมกำเนิดชนิดหนึ่ง ออกฤทธิ์โดยการลดการทำงานของฮอร์โมนเพศชายบางชนิดที่พบได้ในเพศหญิงด้วย สามารถลดการหลุดร่วงของเส้นผมและกระตุ้นการเกิดผมใหม่ แต่ต้องใช้ต่อเนื่อง เพื่อคงประสิทธิผลของการรักษาไว้ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้แก่ เจ็บเต้านม, ปวดศีรษะ, ความรู้สึกทางเพศลดลง ประสิทธิภาพของยานี้เท่ากับการใช้ยา Spironolactone