ผ่าตัดปลูกผมใช้ผมจริงปลูกและผมสามารถขึ้นได้ถาวร
แม้ว่า ศัลยกรรมปลูกผม จะเป็นวิธีเดียวในปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับแล้วว่าทำให้ผมขึ้นได้ถาวรและผมที่ขึ้นใหม่จะไม่หลุดร่วงด้วยอิทธิพลของฮอร์โมน DHT แต่ก็ยังมีผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัดและข้อเท็จจริงหลังผ่าตัดบางประการที่ควรจะนำมาพิจารณาและผู้ใดบ้างที่เหมาะกับการทำศัลยกรรม ปลูกผม เพื่อให้ได้ผลที่ดีและสวยงามเป็นธรรมชาติมากที่สุด
ผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมีอะไรบ้างที่จะต้องให้ความใส่ใจไว้ก่อน
การผ่าตัดปลูกผมถาวร ถือว่าเป็นการผ่าตัดเล็กแต่ทีมงานจะต้องใหญ่เพราะมีความละเอียดมากและใช้เวลาผ่าตัดนานผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัดที่พบได้บ่อยคือ (ส่วนใหญ่ไม่อันตรายและแก้ไขได้ง่าย) แม้แต่ในมือผู้ชำนาญแบบมากที่สุดแล้วผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัดแบบไม่คาดคิดอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อแต่ส่วนใหญ่แก้ไขได้และไม่รุนแรง
- บวมแถวหน้าผากหลังผ่าตัด
- รากผมที่นำมาปลูกใหม่อักเสบ (Folliculitis) รักษาได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวะนะชนิดกิน
- เส้นผมงอกม้วนเข้าไปในใต้ผิวหนัง (Ingrowing hair) ทำให้มีตุ่มน้ำและอักเสบเรื้อรัง มักจะเป็นกับบางรากผมที่ปักปลูกลึกเกินไป แก้ไขได้ไม่ยากแพทย์อาจจะสกิดตุ่มน้ำหรือรากผมนั้นออกด้วยปลายเข็มเล็กๆ ส่วนยาปฏิชีวนะพิจารณาเป็นรายๆไป
- มีเลือดออก (อันนี้แก้ไขได้ด้วยตัวเองง่ายๆคือกดจุดที่เลือดออกไว้สัก 10 นาทีแล้วดูอีกทีว่าหยุดหรือไม่)
- รากผมที่นำมาปลูกใหม่ไม่งอกออกมา ส่วนใหญ่เกิดจากการมีภยันตรายต่อรากผมระหว่างการทำผ่าตัดหรือการตัดเตรียม กร๊าฟท์ ผลแทรกซ้อนนี้เป็นผลโดยตรงมาจากทีมศัลยแพทย์ ว่ากันว่าถ้าศัลยแพทย์ปลูกผมทำการผ่าตัดแล้วมีอัตราการไม่งอกของรากผมเกิน 15 % นั่นแสดงถึงว่าทีมงานและศัลยแพทย์นั่นล้มเหลวในการผ่าตัดครั้งนั้น ความสวยงามและความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการงอกของรากผมที่นำมาปลูกมากกว่าร้อยละ 85 บางที่ในต่างประเทศมีอัตราการงอกของเส้นผมที่ทำศัลยกรรมปลูกผมไปถึงร้อยละ 95
- แผลผ่าตัดด้านหลังไม่สวย อย่างไรก็ตามผลแทรกซ้อนนี้มักไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะจะมีผมยาวขึ้นมาปกปิดได้ แต่ถ้าศัลยแพทย์เลือกลงตำแหน่งบาดแผลสูงเกินไป แผลเป็นที่ท้ายทอยอาจจะปรากฏให้เห็นในภายภาคหน้าถ้าตำแหน่งศีรษะล้านและผมบางขยายครอบคลุมลงมา หรือถ้าเย็บแผลแล้วทำให้แผลผ่าตัดตึงมากแผลเป็นอาจจะแยกปริใหญ่ แลดูไม่สวยเพราะแผลเป็นกว้างไม่ดูเป็นแผลเป็นเส้นด้ายเล็กๆ ส่วนแผลเป็นในตำแหน่งที่ปลูกผมใหม่มักไม่เป็นปัญหาและมองไม่เห็น
- ผิวหนังศีรษะบริเวณที่ปลูกผมใหม่มีสีเข้มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป บางคนวิตกปัญหานี้แต่ป้องกันได้ง่ายคือไม่ไปตากแดดเร็วเกินไปโดยเฉพาะช่วง 6 สัปดาห์แรก หลังผ่าตัด
- อาการชาที่แผลผ่าตัดซึ่งมักจะหายไปเองภายใน 6 เดือนหลังผ่าตัดและพบได้ไม่บ่อย
- ผิวหนังศีรษะตำแหน่งที่นำรากผมมาปลูกใหม่มีลักษณะขรุขระ (Cobblestoning) ส่วนใหญ่เกิดจากการปักปลูกรากผมใหม่ในตำแหน่งไม่ลึกพอ
- ศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ยังคงมีการขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องแม้นว่าเวลาจะผ่านไปหลายปีหลังผ่าตัด ถ้าการออกแบบแผลผ่าตัดที่ท้ายทอยทำได้ไม่ดี การจะผ่าตัดปลูกผมครั้งที่สองจะทำได้ยากมีข้อจำกัดมากขึ้น
มีคำกล่าวเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า "Take your Right Head to the Right Hair Restoration Surgeon at the Right Time" ความหมายก็คือ เลือกคนไข้ที่เหมาะสำหรับการผ่าตัดจริงๆให้กับศัลยแพทย์ที่ถูกคนและถูกเวลา ถ้าทำได้เช่นนี้ผล การผ่าตัดปลูกผมถึงจะออกมาดี สวย ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด อย่าลืมว่าความคาดหวังกับความเป็นจริงหลังผ่าตัดอาจจะไม่ได้ดังใจที่คาดไว้เพราะฉะนั้นต้องทำการศึกษาและพูดคุยกับศัลยแพทย์ของคุณให้ดี เพราะแต่ละรายที่จะทำการปลูก ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เท่ากันเพราะมีปัจจัยแวดล้อมเฉพาะบุคคลต่างกัน (X-Factor) ถ้าจะเอาแบบอุดมคติเลยว่าคนที่เหมาะสมกับการผ่าตัดปลูกผมมากที่สุด จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรลองพิจารณาเงื่อนไขด้านล่างนี้
- ปริมาณเส้นผมบริเวณท้ายทอยต้องมีมากพอที่จะนำมาปลูกในตำแหน่งผมบางที่คุณวิตก (ในคนปกติจะมีรากผมประมาณ 50-80 รากต่อหนึ่งตารางเซ็นติเมตร) อาจจะไม่ปลูกทุกตำแหน่งที่บางก็ได้
- มีอายุมากกว่า 30 ปี และบริเวณที่ผมบางและศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกแล้ว (ถ้าอายุ 40 แต่ตำแหน่งผมบางยังขยายตัวไม่นิ่ง 3-4 ปีต่อเนื่อง ก็ไม่เหมาะสำหรับการผ่าตัดปลูกผม) เพราะถ้าการขยายตัวของขอบเขตแนวผมบางยังเพิ่มขึ้นอยู่การปลูกผมจะเสียเปล่าเพราะขณะที่ศัลยแพทย์ทำการปลูกผมให้จะปลูกเฉพาะในตำแหน่งที่มองเห็นว่าผมบางชัดเจน ตำแหน่งที่ยังมีผมอยู่และยังไม่บางศัลยแพทย์จะไม่ทำการปลูก เพราะฉะนั้นในภายภาคหน้าหลังทำการปลูกผมในขณะที่การขยายตัวของแนวผมบางยังไม่นิ่งพอ ปัญหาเรื่องศีรษะล้านผมบางก็จะตามมาอีก และการผ่าตัดปลูกผมครั้งที่สองทำได้ยากกว่า
- ตำแหน่งที่ผมบางมักจะเกิดขึ้น 3 ตำแหน่ง คือ หน้าผากร่นสูงขึ้นซ้ายและขวา, กลางศีรษะด้านบน และตำแหน่งขวัญ (Crown area) ถ้ามีปัญหาเพียง 2 ตำแหน่งใดๆดังกล่าวหรือเป็นเพียงตำแหน่งเดียวโดดๆ จะเหมาะกับการผ่าตัดปลูกผมมาก
- ผู้ที่พึ่งจะริ่มมีอาการผมร่วงผมบางเพียงครั้งแรกครั้งเดียวไม่ควรใช้การศัลยกรรมปลูกผมเป็นการรักษาเลย ผู้ที่มีปัญหาผมร่วงผมบางมานานเกินกว่า 5 ปี ใช้ยารักษามากินๆหยุดๆ เป็นๆหายๆมาจนเบื่อการรับประทานยาร่วมกับการไม่มีการขยายตัวของแนวผมบางแล้ว เหมาะมากสำหรับการทำศัลยกรรมปลูกผม
เรื่องนี้คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการทำศัลยกรรมปลูกผมยังคงเป็นการตามแก้ไขปัญหาผมบางที่ปลายเหตุ ต้นเหตุที่สำคัญคือเรื่องกรรมพันธุ์ซึ่งไม่สามารถเอาชนะได้ ตราบใดที่ปัญหาผมร่วงผมบางยังดำเนินไม่ถึงจุดอิ่มตัวและคุณยังคงมีข้อวิตกเกี่ยวกับปัญหาผมบางที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ปัญหาที่แท้จริงก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จ หลังทำศัลยกรรมปลูกผมแล้วอาจจะต้องกลับมากินยาเพื่อประคองในส่วนที่ไม่ได้รับการผ่าตัดปลูกผมเพื่อให้คงสภาพอยู่ได้ ในบางรายถ้าเลือกผู้ที่เหมาะสมกับการผ่าตัดได้ถูกช่วงเวลาในการทำศัลยกรรมหลังผ่าตัดปลูกผมแล้วไม่มีความจำเป็นต้องกินยารักษาผมร่วงต่ออีกเลย