สาเหตุผมร่วงผมบางในผู้หญิง
ผมร่วงเกิดจากอะไร? สาเหตุทั้งพบได้บ่อยและไม่บ่อย อาจรวมถึง ความเครียด : ทั้งจิตใจและร่างกาย : การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่างๆ เป็นต้น
ควรจะแก้ปัญหาผมร่วงอย่างไรดี? หลายครั้งที่เราไม่อาจทราบเองได้ว่าผมร่วงเกิดจากอะไร ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้หาสาเหตุและประเมินปัญหาของผมร่วง รวมทั้งให้การรักษาให้ตรงตามสาเหตุที่พบ
ก่อนที่จะเข้าใจสาเหตุของผมร่วง ควรรู้จักวงจรชีวิตของเส้นผมก่อน เส้นผมมีวงจรชีวิตอยู่ในช่วง 2 -6 ปี โดยประมาณ และส่วนใหญ่ผมจะยาวประมาณ 1/2 นิ้ว หรือ 1.27 ซม. ต่อเดือน ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ 90 % ของปริมาณเส้นผมบนหนังศีรษะจะอยู่ในช่วงที่กำลังเจริญเติบโต และ 10% อยู่ในระยะพักตัว ผมในระยะพักจะไม่เจริญเติบโตต่ออีก ต่อไป แต่อยู่บนศีรษะเพื่อรอวันร่วงออกมา หลังจากนั้น 2 – 3 เดือนก็จะร่วงหลุดออกมา และมีผมเส้นใหม่เจริญขึ้นมาแทน นี่คือวงจรชีวิตของผมปกติ ถ้าจะมีอะไรก็ตามที่มาขัดขวางการเจริญของผมใหม่ หรือเร่งให้ผมมาอยู่ในระยะพักตัวเร็วขึ้นหรือจำนวนเส้นผมที่อยู่ในระยะพักตัวมีมากขึ้น ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วง ผมบางลงได้ สาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วง ผมบางในผู้หญิงที่พบอาจได้แก่
- การทำผมหรือทำทรีทเมนต์ผมที่รุนแรงเกินไป การใช้สารเคมี เช่น ยาย้อมผม, น้ำยากัดสีผม ครีมย้อมผม น้ำยาดัดผม น้ำยายืดผม ที่ไม่ถูกต้อง มากเกินไปหรือบ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดการขัดขวางการเจริญปกติของเส้นผมได้ นอกจากนี้การใช้ยางรัดผม หรืออุปกรณ์แต่งผมที่รัดแน่นเกินไปกับผมที่ผ่านสารเคมีมาก่อน ซึ่งในช่วงนั้นรากผมจะมีการอักเสบอยู่ อาจทำให้ผมหลุดร่วงได้ง่ายกว่าปกติ ในทำนองเดียวกัน การถักเปียที่แน่นเกินไป (Traumatic alopecia) ก็จะทำให้ผมร่วงได้ง่ายเช่นเดียวกัน และอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่หนังศีรษะบริเวณรากผม ซึ่งจะทำให้ไม่มีผมใหม่ขึ้นที่บริเวณรากผมนั้น เกิดผมร่วง ผมบางถาวรได้อีกด้วย
- ผมร่วงแบบศีรษะล้านจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia or female-pattern baldness) ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ชาย แต่ก็พบได้ประปรายในผู้หญิง อาจรู้จักได้ในชื่อ ผมร่วงแบบแอนโดรจีนิค (androgenic alopecia) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (ซึ่งพบทั้งในผู้ชายและผู้หญิง) ไปเป็นฮอร์โมน ดีเอชที (DHT – dihydrotestosterone) ที่ทำให้เกิดผลอันตรายต่อรากผม โดยปกติในผู้หญิงจะมีปริมาณฮอร์โมนนี้อยู่ในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ในภาวะใดก็ตามที่ฮอร์โมนเพศหญิงลดลง เช่น ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะทำให้ฤทธิ์ของฮอร์โมนตัวนี้เด่นขึ้น และทำให้เกิดภาวะผมบางที่บริเวณส่วนบนหรือด้านข้างของศีรษะคล้ายที่พบในผู้ชายได้
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ผมร่วงอาจเกิดจากภาวะความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกายได้เช่น การได้รับยาเม็ดคุมกำเนิด หญิงวัยหมดประจำเดือน หญิงที่ได้รับการรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออก ซึ่งภาวะเหล่านี้จะทำให้เกิดฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และทำให้ผมเข้าสู่ระยะพักตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ ผมจึงหลุดร่วงเร็วขึ้น นอกจากนี้ฮอร์โมนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน อาจพบภาวะผมร่วงได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีฮอร์โมนไทรอยด์สูงและไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
- การตั้งครรภ์และผมร่วงหลังคลอด ในช่วงตั้งครรภ์ผมที่ควรจะร่วงปกติกลับยังคงอยู่ ความหมายคือช่วงตั้งครรภ์ผมจะร่วงน้อยมากแม้ในคนที่เคยมีประวัติผมร่วงง่ายมาก่อนจะตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนบางชนิดมีระดับที่สูงขึ้น หลังคลอดฮอร์โมนดังกล่าวมีการลดลงสู่ระดับปกติจึงพบว่ามีผมร่วงมากขึ้น บางครั้งร่วงเป็นกระจุก บางครั้งอาจไม่พบทันทีหลังคลอด แต่กลับพบผมร่วงมากหลังคลอดแล้วนานถึง 3 เดือนก็ได้ ผมที่ร่วงมากขึ้นนี้ส่วนใหญ่จะกลับขึ้นปกติได้ภายใน 12-16 เดือน หลังเกิดอาการ
- ภาวะไข้สูงก่อนจะมีผมร่วง 60-120 วัน ในคนที่มีผมร่วงแบบมากๆ อาจจะลืมไปว่าในอดีตย้อนกลับไป 2-4 เดือนก่อนหน้านี้ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ทำให้มีไข้สูง 39 -40 °C - องศาเซลเซียส เช่น โรคที่พบบ่อย คือ ไข้เลือดออก, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ไทฟอยด์, ไข้จากการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ อาการผมร่วงจากภาวะนี้เองอาจจะเป็นผลโดยตรงจากโรคเหล่านี้หรือเป็นจากยาที่ใช้รักษาโรคเหล่านี้ตอนที่เป็น ทั้งยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาต้านไวรัส หรือยาอื่นๆที่ได้รับช่วงเจ็บป่วย
- ภาวะความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจหรือหลังการการผ่าตัด ภาวะความเจ็บป่วยหรือการผ่าตัดสามารถที่จะทำให้รากผมเข้าสู่ระยะพักตัว การปรับตัวของร่างกายให้ต่อสู้กับความเครียดที่เกิดขึ้น ร่างกายอาจหยุดการทำงานที่ไม่จำเป็นเช่น การสร้างผมก็หยุดไว้ก่อน ผมร่วงที่เกิดจากภาวะนี้จะกลับเจริญขึ้นใหม่ได้เองหลังจากนี้ 6 เดือน นอกจากนี้โรคบางโรคอาจทำให้เกิดผมร่วงได้ เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDs) โรคเอสแอลอี (SLE) หรือ โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
- การขาดอาหาร การลดน้ำหนัก อดอาหาร หรือในผู้ป่วยโรคจิตบางชนิด เช่น อนอเรกเซีย, บูลีเมีย (anorexia, bulimia) อาจทำให้รากผมเกิดภาวะช็อค และหยุดการเจริญชั่วคราวได้ สารอาหารที่ร่างกายได้รับไม่พอเพียง ทั้งพวกโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ จะถูกนำไปใช้กับร่างกายในส่วนที่สำคัญก่อน ดังนั้นผมอาจจะหยุดการเจริญชั่วคราว เมื่อได้รับสารอาหารที่เพียงพออีกครั้งผมจะเจริญขึ้นใหม่ได้อีก ส่วนเรื่องน้ำหนักที่ลดลงจะเป็นด้วยความตั้งใจควบคุมหรือจากความเจ็บป่วย ไม่ว่าจะจากการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร หากลดลงอย่างมากและรวดเร็วเกิน 1.5 กก./เดือน มีโอกาสที่จะเกิดผมร่วงได้อย่างมากๆแทบทั้งสิ้น
- การใช้ยาบางประเภท ยาบางประเภทมีผลข้างเคียงทำให้เกิดผมร่วงเช่น ยาเคมีบำบัด ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเก๊าฑ์ วิตามิน A ขนาดสูงที่ใช้ในการรักษาสิว ดังนั้นหากต้องใช้ยาอะไรเป็นประจำแล้วมีภาวะผมร่วงเกิดขึ้น ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์และเปลี่ยนชนิดของยา ส่วนใหญ่ผมที่ร่วงไปจะกลับขึ้นใหม่ได้ : รายละเอียด : ยาที่ทำให้ผมร่วง
- อายุที่เพิ่มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น การเจริญของผมจะช้าลง การป้องกันผมร่วงจากภาวะนี้ค่อนข้างยาก แต่สิ่งที่จะพอช่วยได้คือ หลีกเลี่ยงสาเหตุอื่นๆ ที่จะทำให้ผมร่วงมากขึ้นไปอีก เช่น ใช้แชมพูอ่อน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่ผม รับประทานอาหารให้ครบหมู่ และออกกำลังกาย รักษาสุขภาพให้แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ก็จะไม่เป็นการซ้ำเติมให้เส้นผมหลุดร่วงมากขึ้น
- ผมร่วงเป็นวง (Alopecia areata) ความจริงผมร่วงชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหญิงและชายมีสาเหตุหลักๆมาจากความเครียด ความวิตกกังวลทั้งแบบเรื้อรังและเฉียบพลัน ทำให้เกิดความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ออกมาทำลายรากผมตัวเองหรืออาจจะทำลายรากขนในตำแหน่งต่างๆทั่วร่างกายได้ : รายละเอียด โรคผมร่วงเป็นหย่อม :